ตามที่มีการส่งต่อข่าวสารในประเด็นเรื่องรัฐบาลให้สิทธิพิเศษศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีการส่งต่อข้อความโดยระบุว่าไม่มีความเท่าเทียม อิสลามมีธนาคารปลอดดอกเบี้ย มีสิทธิ์บินไปต่างประเทศฟรีด้วยงบของรัฐ และสร้างมัสยิดด้วยภาษีชาวพุทธ ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบและชี้แจงแต่ละประเด็นว่า
- ประเด็นศาสนาอิสลามมีธนาคารอิสลามที่ปลอดดอกเบี้ย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 และเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
- ประเด็นศาสนาอิสลามมีตราฮาลาลที่เก็บเงินปีละสามแสนล้านบาท การรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล
เป็นการรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตามมาตรา 18 (6) หรือ (9) หรือมาตรา 26 (13) แห่ง พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540
- ประเด็นการเดินทางไปราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียด้วยงบประมาณของรัฐ สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลาม เป็นเงินส่วนตัวของผู้เดินทางทั้งสิ้นประกอบด้วยค่าบัตรโดยสารค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารถโดยสาร และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้น โดยมิได้มีงบประมาณของราชการสนับสนุนแต่อย่างใด
- ประเด็นการสร้างมัสยิดด้วยภาษีของชาวพุทธ มัสยิดเป็นศาสนสถานใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกับศาสนสถานในศาสนาอื่น ซึ่งการสร้างมัสยิดเกิดจากความเชื่อความศรัทธาโดยการบริจาค (วากัฟ)
ทั้งที่ดินและเงินที่ใช้ในการก่อสร้าง รัฐบาลจึงไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการสร้างมัสยิดเป็นการทั่วไปแต่อย่างใดและการสร้างมัสยิดทั่วไปต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540
- ประเด็นที่อิหม่ามมีเงินเดือนเหมือนข้าราชการ อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น เป็นผู้นำทางศาสนาอิสลามมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ดังนั้น จึงมีการกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้นำทางศาสนาโดยเบิกจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552
6. ประเด็นศาสนาอิสลามมีกฎหมายคุ้มครอง จำนวน 7 ฉบับ ขอเรียนว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารศาสนาอิสลามมี 4 ฉบับ ดังนี้
1.พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488
2. พระราชบัญญัติมัสยิด พ.ศ. 2490
3. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491
4. พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ซึ่งปัจจุบันกฎหมาย ตามข้อ 1. – 3. ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยผลของกฎหมายตามข้อ 4. และ 5. พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สามารถติดตามได้ที่ www.dopa.go.th/main/web_index หรือโทร 1567
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : รัฐบาลไม่ได้ให้สิทธิพิเศษใดกับศาสนาอิสลาม รัฐบาลไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการสร้างมัสยิด รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยก็เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง อีกทั้งการเดินทางไปราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์นั้นเป็นเงินส่วนตัวของผู้เดินทางทั้งสิ้น โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารศาสนาอิสลามมี 4 ฉบับ มิใช่ 7 ฉบับตามที่กล่าวอ้าง