ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับกรณีที่มีผู้เผยแพร่คลิปในสื่อออนไลน์ เรื่องมีผู้กล่าวอ้างว่าเงินกู้เรียนไม่ต้องจ่ายคืนถ้ายอมเปลี่ยนศาสนานั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อดังกล่าว เป็น ข้อมูลเท็จ
โดย นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้เผยแพร่คลิปในสื่อออนไลน์ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมผู้กู้ยืม กยศ.ต้องกู้ยืมผ่านธนาคารอิสลาม ทำไมไม่กู้ผ่านธนาคารออมสิน และหากยอมเปลี่ยนศาสนา แล้ว กยศ.จะยกหนี้ให้จริงหรือไม่
กองทุนขอเรียนชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยได้ว่าจ้างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินให้กู้ยืม
ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถเลือกใช้บริการจากธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามได้ โดยไม่ได้มีการบังคับแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้กู้ยืม
โดยกองทุนได้ว่าจ้างธนาคารกรุงไทย เป็นผู้บริหารจัดการเงินกู้ยืมตั้งแต่ปี 2539 และต่อมาได้เพิ่มธนาคารอิสลามเป็นผู้บริหารจัดการเงินกู้ยืมตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเพิ่มช่องทางในการให้บริการแก่ผู้กู้ยืม ซึ่งจากผู้กู้ยืมประมาณ 5.7 ล้านคนนั้น ใช้บริการผ่านธนาคารกรุงไทย 97% และผ่านธนาคารอิสลาม 3%
“สำหรับกรณีที่มีการกล่าวว่าหากมีการเปลี่ยนศาสนาจะได้รับการยกหนี้นั้น กองทุนขอยืนยันว่าไม่มีข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และอาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความสับสน ทางกองทุนจึงขอเรียนมาเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน” ผู้จัดการกองทุนฯกล่าว
พร้อมกันนั้นทางธนาคารอิสลาม แห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นเดียวกันนั้นว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่คลิปในสื่อออนไลน์ โดยระบุว่า นักเรียนนักศึกษาที่ประสงค์กู้ยืมเงินจาก กยศ. จะต้องกู้ผ่านธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น รวมทั้งหากผู้กู้ยินยอมเปลี่ยนการนับถือศาสนามาเป็นศาสนาอิสลาม ธนาคารจะดำเนินการยกหนี้ให้นั้น
นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ขอเรียนชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแม้แต่เรื่องเดียว เนื่องจากปัจจุบันธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในสองของผู้บริหารจัดการเงินให้กู้ยืมจาก กยศ. ทั้งนี้เพื่ออำนวยให้นักเรียนนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้มีทางเลือกในการใช้บริการทางการเงินอย่างถูกต้องตามหลักการที่ศาสนาบัญญัติไว้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นภาคบังคับแต่อย่างใด และเป็นไปตามความประสงค์ของผู้กู้ ประกอบกับธนาคารไม่ได้เป็นผู้ให้กู้โดยตรง แต่เป็นเพียงช่องทางในการติดต่อรับจ่ายเงินจากทาง กยศ. ธนาคารจึงไม่ได้มีส่วนได้เสียในการให้เงินกู้ดังกล่าว นอกจากนั้น ในกระบวนการขอกู้ยืมก็ไม่ได้มีเอกสารหรือข้อความใด ที่ระบุว่าจะได้รับการยกหนี้เมื่อมีการเปลี่ยนศาสนามาเป็นศาสนาอิสลาม ข้อความดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ขอยืนยันว่า ธนาคารดำเนินธุรกิจทางการเงินตามหลักการเงินอิสลาม เพื่อให้ลูกค้าที่เป็นชาวไทยมุสลิม มีทางเลือกในการใช้บริการทางการเงินอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และธนาคารยังสามารถให้บริการทางการเงินกับประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นได้เช่นกัน หากลูกค้าสนใจใช้บริการกับธนาคารเรายินดีให้บริการทุกท่านอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีพันธกิจในการเชิญชวนผู้ใช้บริการในการเปลี่ยนศาสนา ข้อความดังกล่าว จึงอาจสร้างความสับสนและความเข้าใจผิดและเกิดความสับสนในบทบาทของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารจึงขอเรียนมาให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน” นายวุฒิชัย (กล่าวทิ้งท้าย)
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ
ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ