ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับ ร่าง พรบ.กิจการฮัจย์มีผลให้อิสลามเข้าควบคุมกรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
ในกรณีการกล่าวถึงข้อมูลที่ระบุว่าร่าง พรบ.กิจการฮัจย์ ย้ายจากกรมการศาสนา มากรมการปกครอง ต่อไปนี้อิสลาม ควบคุม ตำบล, อำเภอ, จังหวัด, กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ทางกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงว่า พรบ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559 และใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ โดยบัญญัติให้กรมการปกครองเป็นสำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย และให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพัน ของกรมการศาสนา เฉพาะกองส่งเสริมกิจการฮัจย์ ไปเป็นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีราชการส่วนภูมิภาคสามารถใกล้ชิดกับประชาชนในทุกพื้นที่ และสำหรับประเด็นการกำหนดอัตราโทษจะใช้บังคับแก่ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการใด ๆ ของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยที่ออกประกาศกำหนด
พรบ.การบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้กำหนดกลไกในการบริหารกิจการศาสนาอิสลามให้มีองค์กรหลัก 3 องค์กร คือ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด รวมทั้งให้มีสำนักงานและมัสยิดที่จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล โดยกำหนดให้จังหวัดที่มีมัสยิดจำนวน 3 มัสยิดขึ้นไปสามารถมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อบริหารกิจการศาสนาอิสลามภายในขอบเขตอำนาจ หน้าที่ของตนได้ และได้กำหนดให้ผู้นำศาสนาอิสลามมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อหน่วยงานราชการ โดยมิได้มีอำนาจในการสั่งการ ควบคุมหรือบังคับบัญชาแต่อย่างใด ดังที่ปรากฏในมาตรา 8 ที่กำหนดให้จุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม มาตรา 18 ที่กำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 26 ที่กำหนดให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://multi.dopa.go.th/haj/main/web_index หรือโทร. 02 282 1461
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : พรบ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาบัญญัติให้กรมการปกครองเป็นสำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย และให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ของกรมการศาสนา เฉพาะกองส่งเสริมกิจการฮัจย์ ไปเป็นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีราชการส่วนภูมิภาคสามารถใกล้ชิดกับประชาชนในทุกพื้นที่